ReadyPlanet.com
dot
dot
หลักสูตรอบรม
dot
bulletออทิสติก
bulletสติปัญญา
bulletร่างกายหรือสุขภาพ
bulletการเรียนรู้
bulletพฤติกรรมและอารมณ์
bulletภาษาและการสื่อสาร
bulletการเห็น
bulletการได้ยิน
bulletพิการซ้อน
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
bulletสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
bulletศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง
bulletโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์
bulletสถิติการศึกษา สพฐ.
dot
Newsletter

dot


เพลง
สมาคมวิจัยทางการศึกษาพิเศษ
ดวง
ประสาทสัมผัส
ออทิสติก
ดาวน์โหลด
วิจัย พิเศษ


ภาษาและการสื่อสาร

 

การพัฒนาทักษะการสื่อสารผ่านกลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง  (Visual Strategies) 
ดร.สมพร  หวานเสร็จ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง
เข้าใจ..กลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง  (Visual Strategies) 
กลวิธีการรับรู้ผ่านการมองมีหลักการและแนวคิดมาจากการที่บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารไม่สามารถเข้าใจภาษาพูดทั้งหมดได้    จึงนำรูปภาพหรือสัญลักษณ์เข้ามาแทนภาษาพูดเพื่อให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารเข้าใจและสามารถสื่อสารได้    รวมไปถึงการช่วยจัดการกับปัญหาการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ด้วย จากการศึกษางานวิจัย พบว่า บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารและกลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการสามารถเรียนรู้ผ่านการมองได้ดีเนื่องจาก สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ลดพฤติกรรมก้าวร้าวและการทำร้ายตัวเอง   ลดความเครียดและความวิตกกังวล    สามารถเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจเมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน    ช่วยให้ทำงานได้เสร็จอย่างสมบูรณ์    ช่วยให้ทำงานได้อย่างอิสระ (Hodgdon, 1995; Quill, 1997; Frost and Bondy ,2000)
หลักการของกลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง ได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาพฤติกรรมบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารให้ดีขึ้นโดยแสดงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารเห็นได้ชัดเจน ทำให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารทำกิจกรรมได้อย่างอิสระและมั่นใจ พัฒนาความสามารถในการเข้าใจของบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสาร   เหตุผลที่ต้องใช้กลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง   เพราะการกระตุ้นทางการมองอาจทำให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรม เดิมเราไม่สามารถวัดได้ว่าบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารเข้าใจสิ่งที่เราบอกให้ทำได้ เพราะบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารอาจจะดูจากเพื่อนและทำตาม หรือเราอาจจะไปเข้าใจว่าบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารไม่อยากทำตามที่เราบอกจริง ๆ แล้วบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารกลุ่มนี้ไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอะไรในขั้นต่อไปของกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ ดังนั้นกลวิธีการรับรู้ผ่านการมองนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารดำเนินขั้นตอนของกิจกรรม    คำสั่ง    คำอธิบายได้เสร็จสมบูรณ์
กลวิธีการรับรู้ผ่านการมองใช้ได้ดีกับสถานศึกษาก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และกลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการใช้กลวิธีการรับรู้ผ่านการมองจากการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อพัฒนาด้านการสื่อสารและสังคม ได้แก่ บุคคลออทิติก บุคคลที่บกพร่องด้านการพูด / ไม่เข้าใจคำพูด บุคคลที่บกพร่องด้านการเรียนรู้ บุคคลที่สมาธิสั้น บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา ฯลฯ (อาพร ตรีสูน, 2550; พรมณี หาญหัก, 2550 ; Harris et al ,1991 ; Hodgdon ,2000; Brereton, and Tonge, 2005)  
องค์ประกอบและประเภทของกลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง
องค์ประกอบและประเภทของกลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง ได้แก่ ตารางเวลา (Schedule) ตารางเวลาย่อย (Mini – Schedule) การแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ (Task Organizers) ปฏิทิน (Calendars)เครื่องมือในการจัดการ (Management Tools)การเปลี่ยนกิจกรรม (Transition Helpers) และการสื่อสารระหว่างสิ่งแวดล้อมสองแห่ง (Communication Between Environment)
1)ตารางเวลา (Schedule) ช่วยให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารมีความสะดวกสบายในการทำกิจกรรม   เกิดความมั่นใจและไว้วางใจในการทำกิจกรรม รวมถึงทราบข้อมูลว่าต้องทำอะไรบ้างใน 1 วัน   โดยวัตถุประสงค์หลักของตารางเวลา คือช่วยในการจัดการพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสาร เช่น ในวันหนึ่งๆ บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารไม่ยอมทำกิจกรรมใดๆ นอกจากนั่งเล่นของเล่น คุณครูหรือผู้ปกครองใช้ตารางเข้าไปช่วยในการจัดการเป็นตัวบอกข้อมูลให้ทราบว่าบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารจะต้องทำอะไรบ้างหลังจากที่พูดหรือบอกกล่าวโดยที่ไม่ต้องใช้คำพูดย้ำเตือน บางครั้งบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างหรือมีอาการงอแงไม่ยอมเปลี่ยนกิจกรรมที่กระทำอยู่เป็นประจำเมื่อบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารได้รับการฝึกใช้ตามตารางกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมต่อต้านก็จะลดลงและทำกิจกรรมตามตารางอย่างเข้าใจ เป็นการช่วยฟื้นความทรงจำหรือย้ำเตือนบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารว่าจะต้องทำสิ่งใดก่อนหลัง อาจเป็นตารางเรียนหรือตารางกิจวัตรประจำวันของบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารก็ได้
2)    ตารางเวลาย่อย (Mini – Schedule) เหมือนตารางเวลาหลัก แต่จะดึงมาเพียงหนึ่งกิจกรรมของตารางเวลา เป็นกิจกรรมในตารางเวลาที่บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารไม่สามารถทำได้หรือเริ่มต้นทำกิจกรรมไม่ถูกหรือไม่ยอมทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งตารางเวลาย่อยช่วยให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ
3)    การแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ (Task Organizers) การแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนคือการใช้ภาพหรือสัญลักษณ์    ที่บอกถึงขั้นตอนการกระทำกิจกรรมให้เป็นขั้นตอนย่อยที่ชัดเจน ผู้สอนจะต้องแตกทักษะที่จะสอนออกเป็นส่วนย่อยๆ หลายๆ ส่วนหรือหลายๆ ขั้นตอนให้เป็นงานที่ง่ายที่สุดที่ผู้เรียนจะกระทำได้ แล้วเอาแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนนั้นมาแยกสอน เพื่อให้ผู้เรียนทำได้คล่องด้วยตนเองในแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอน นั่นคือผู้สอนต้องวิเคราะห์งาน
4)   ปฏิทิน (Calendars) ปฏิทินมีไว้บอกข้อมูลที่มีความหมายกับบุคคลบกพร่องด้านการสื่อสาร เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล ลดการถามถึงเหตุการณ์ที่บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารสนใจ โดยกำหนดไว้ที่ปฏิทินให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารดูว่าเหตุการณ์สำคัญๆ ในหนึ่งเดือนอยู่ในวันอะไร ให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารดูว่าวันนี้วันอะไร มีอะไรที่เด็กต้องทำบ้าง
5) เครื่องมือในการจัดการ (Management Tools)เครื่องมือในการจัดการ เป็นเครื่องมือที่บอก
ข้อมูล คำสั่ง กฎระเบียบต่างๆ ที่บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารไม่เข้าใจ โดยใช้ภาพหรือสัญลักษณ์เป็นสื่อแทน    เช่น นักเรียนไม่ยอมนั่งเก้าอี้เรียน จะมุดใต้โต๊ะไม่ยอมทำกิจกรรม ครูใช้ภาพหรือสัญลักษณ์ ห้ามนอนใต้โต๊ะ,นั่งบนเก้าอี้    ติดไว้บนโต๊ะนักเรียนเพื่อกระตุ้นเตือนให้บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์
6)    การเปลี่ยนกิจกรรม (Transition Helpers) เพื่อให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมหนึ่งสู่กิจกรรมหนึ่ง และเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมหนึ่งไปยังสภาพแวดล้อมหนึ่ง   โดยใช้ตาราง หรือรูปภาพ หรือใช้นาฬิกา ในการสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจว่าจะต้องทำสิ่งใดก่อนหลัง
7)    การจัดระบบการทำงาน (Work System) ช่วยให้นักเรียนเข้าใจขั้นตอนการทำกิจกรรมมากขึ้น โดยนำตัวเลขมากำหนดขั้นตอนในการทำกิจกรรม เช่น นักเรียนมีปัญหาในการเรียนวิชาพลศึกษา โดยที่ไม่เรียนไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มต้นทำที่ขั้นตอนใดก่อน ได้แต่นั่งหรือยืนดูเพื่อนทำกิจกรรมทั้งชั่วโมง คุณครูจึงนำขั้นตอนของงการเรียนในวิชาพลศึกษามาจัดเป็นระบบงานให้นักเรียนได้ทราบ
8)    การสื่อสารระหว่างสิ่งแวดล้อมสองแห่ง (Communication Between Environment) บุคคลบกพร่องด้านการสื่อสารสามารถสื่อสารด้วยรูปภาพได้ในสถานการณ์สองแห่ง เช่น อาจเป็นที่บ้านกับที่โรงเรียน หรือสถานที่อื่น หรืออาจใช้การเล่านิทานการสนับสนุนทางการมองเป็นวิธีการที่ส่งเสริมกระบวนการสื่อสารการเคลื่อนไหวร่างกายไปจนถึงการชี้แนะด้วยสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์การสนับสนุนทางการมองในเรื่องความสามารถของบุคคลเพื่อเพิ่มข้อมูลการสัมผัสของการมองเห็น การสนับสนุนทางสายตาเป็นส่วนที่แยกออกมามิได้ของวงจรการสื่อสาร การส่งเสริมกระบวนการรับที่เกิดผล การกระทำและการแสดง การสนับสนุนทางการมองมีรูปแบบดังต่อไปนี้    ภาษาท่าทาง เช่น การแสดงสีหน้า ใช้ท่าทางชี้แนะ ท่าทางเป็นสัญญาณ การเคลื่อนไหวของร่างกาย/ท่าทาง การจับ การสัมผัส การชี้ การสบตา การมองตามสิ่งที่เห็น การชี้นำจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เช่น การจัดโต๊ะ เก้าอี้ที่จัดอย่างเป็นระเบียบ การพิมพ์ภาพสัญลักษณ์ เครื่องหมาย การเน้นย้ำ การให้รางวัล การเขียนข้อความ รายการต่างๆ คำแนะนำบนกล่อง บนเครื่องมือ หรือในที่ตั้งของงานเครื่องมือที่ดั้งเดิมสำหรับการจัดการข้อมูลและการให้ข้อมูล เช่น ปฏิทิน ตารางแนะนำรายการทีวี รายการสิ่งของ บันทึก สัญลักษณ์ การเน้นย้ำ แผนที่ รายการตรวจสอบเครื่องมือการออกแบบพิเศษเพื่อความต้องเฉพาะบุคคลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ชนิดของสื่อสนับสนุนการมอง (Visual Supports) ที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ ตารางรูปภาพเวลา (Visual Schedules) การให้ข้อมูลโดยภาพ (Information Sharers) แบบตรวจสอบรายการหรือการจัดการโดยภาพ (Checklists/Organizers) และภาพเพื่อการสอนพฤติกรรม (Visual Behavior Supports)
            การพัฒนาทักษะการสื่อสารผ่านกลวิธีการรับรู้ผ่านการมองจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ในการพัฒนาบุคคลที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาพูด การนำรูปภาพหรือสัญลักษณ์เข้ามาแทนภาษาพูดเพื่อให้สื่อสารเข้าใจ สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ลดพฤติกรรมก้าวร้าวและการทำร้ายตัวเองอีกด้วย  
เอกสารอ้างอิง
พรมณี หาญหัก. (2550). ผลการใช้ชุดการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยกลวิธีการรับรู้ผ่านการมองสำหรับนักเรียนออทิสติก. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอนการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
อาพร ตรีสูน. (2550). ผลของการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยกลวิธีการรับรู้ผ่านการมองในการพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียนออทิสติก. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอนการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Brereton, Avril V. and Tonge, B. J. (2005). Pre-schoolers with autism : an education and skills training programme for parents : manual for clinicians. Philadelphia,PA: Jessica Kingsley Publishers.
Frost, L.A.,and Bondy, A.S.(2000). PECS: The Picture Exchange Communication System. VDO. CA: Mayer – Johnson Company
Hodgdon,L. (1995). Solving behavior problem through the use of visually supported communication. In K. Quill (Ed. ). Teaching children with autism. Albany : Delmar Publishing Co.
Hodgdon,L. (2000). Visual strategies for improving communication: practical supports for school and home. 10thed printing. Michigan Quirkroberts Publishing